กฎหมาย ในความหมายของนักร่างกฎหมายแล้วเป็นเอกสารชนิดหนึ่งที่วางหลักเกณฑ์หรือกติกา เพื่อให้สังคมทำหรืองดเว้นการกระทำในสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด หรืออยากให้เกิดในรูปแบบเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่งกฎหมายในสายตาของนักร่างกฎหมาย คือ การเอากติกามาเขียนเพื่อให้คนอื่นรู้ และเข้าใจ โดยมีลำดับชั้นของกฎหมาย ดังนี้
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีค่าบังคับสูงสุด และเป็นแม่บทที่ให้อำนาจในการออกกฎหมายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ พระราชกำหนด ประกาศพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และประกาศ กระทรวงเป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารออกมาเพื่อให้ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้
สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล กฎหมายแม่บทที่ใช้ในการบริหารงาน คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีข้อบังคับและประกาศมหาวิทยาลัย และกฎหมายลูก หรือกฎหมายลำดับรองที่ออกมาเพื่อใช้ในการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบันถึงแม้จะมีข้อบังคับ และประกาศ ออกมาใช้ในมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็ยังมีความสับสน และปัญหาในทางปฏิบัติเสมอว่า กรณีใดต้องออกเป็นข้อบังคับ รวมถึงกรณีของการจัดทำประกาศ อยู่ตามสมควร
โดยความหมายแล้วข้อบังคับ และประกาศ เป็นกฎหมายลำดับรอง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายแม่บท โดยเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และประกาศ ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล คือ กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ที่มีอำนาจออกข้อบังคับคือ สภามหาวิทยาลัยมหิดล
ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล คือ กฎหมายลำดับรองเช่นกันแต่ออกโดยอาศัยอำนาจตามที่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดไว้ แบ่งออกเป็น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นข้อบังคับ หรือประกาศก็จะมีลักษณะโครงสร้างของกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน แต่จะมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง